กลับไปที่นวัตกรรมทั้งหมด
นวัตกรรมกายอุปกรณ์เครื่องพยุงฝึกเดินของกลุ่มผู้สูงอายุ
INNOVATIVE ORTHOTIC FOR WALKING TRAINING OF THE ELDERLY
@วิทยาลัยการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม
#Highlight 2024
#Healthcare and Wellness
รายละเอียด
การค้นคว้าอิสระเรื่องความตั้งใจยอมรับนวัตกรรมกายอุปกรณ์เครื่องพยุงฝึกเดินของกลุ่มผู้สูงอายุในจังหวัดกำแพงเพชร มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับปัจจัยด้านคุณลักษณะของนวัตกรรม การรับรู้ต่อการใช้งาน และความพึงพอใจต่อการใช้งานนวัตกรรมที่มีผลต่อความตั้งใจยอมรับนวัตกรรมกายอุปกรณ์เครื่องพยุงฝึกเดิน 2) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านคุณลักษณะของนวัตกรรม การรับรู้ต่อการใช้งาน และ 3) ความพึงพอใจต่อการใช้งานนวัตกรรมที่มีผลต่อความตั้งใจยอมรับนวัตกรรมกายอุปกรณ์เครื่องพยุงฝึกเดิน โดยกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัย คือ ผู้สูงอายุในจังหวัดกำแพงเพชรที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม จำนวน 274 ตัวอย่าง ด้วยรูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณ และใช้การวิเคราะห์การถดถอยพหุ และสหสัมพันธ์ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านความทันสมัย คุณค่าในการใช้งาน การใช้ความรู้ความสร้างสรรค์ สอดคล้องกับสมมติฐานงานวิจัย และมีความสัมพันธ์กับตัวแปรความตั้งใจยอมรับนวัตกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ส่วนตัวแปรด้านการรับรู้ต่อการใช้งาน มีเพียงตัวแปร ด้านการรับรู้ความง่ายต่อการใช้งานเท่านั้นที่สอดคล้องกับสมมติฐานงานวิจัย และมีความสัมพันธ์กับตัวแปรความตั้งใจยอมรับนวัตกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 สำหรับด้านความพึงพอใจ ประกอบด้วย การเข้าถึงบริการ และการตอบสนองต่อผู้ใช้งานพบว่า มีความสอดคล้องกับสมมติฐานงานวิจัย และมีความสัมพันธ์กับตัวแปรความตั้งใจยอมรับนวัตกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 สรุปผลการวิจัยได้ว่า ปัจจัยด้านความทันสมัย คุณค่าในการใช้งานความสร้างสรรค์ การรับรู้ความง่ายต่อการใช้งาน และความพึงพอใจต่อการใช้งาน ล้วนมีความสำคัญต่อความตั้งใจยอมรับนวัตกรรมอุปกรณ์เครื่องพยุงฝึกเดินในกลุ่มผู้สูงอายุในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งอาจเป็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องพยุงฝึกเดินสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์
การพลัดตกหกล้มถือเป็นอุบัติการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในปี พ.ศ. 2545 ประมาณ 391,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 424,000 คน ในปี พ.ศ. 2555 (เฉลี่ยวันละ 1,160 คน) สำหรับประเทศไทยมีผู้สูงอายุเสียชีวิตกว่า 1,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน โดยเพศชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิงกว่า 3 เท่า ซึ่งความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มนั้นเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ จากข้อมูลที่กล่าวมาพบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากภาวะพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่ออาการบาดเจ็บต่อร่างกายโดยตรง รวมทั้งเพิ่มภาระต่อครอบครัวในการดูแลระยะยาว มีค่าใช้จ่ายสูง การป้องกันที่สำคัญ ได้แก่ การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และช่วยการทรงตัว การประเมิน รวมทั้งแก้ไขปัจจัยเสี่ยงหลายๆปัจจัย โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติหกล้ม รวมถึงการประเมินและปรับสภาพแวดล้อมบ้านให้ปลอดภัย เป็นต้น เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นหนึ่งในบริการด้านสุขภาพ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยการตรวจประเมิน และวางแผนการการรักษาให้สุขภาพที่ดีขึ้น ป้องกันภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเช่นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยทุพพลภาพโดยกำเนิด ผู้ป่วยที่ได้รับความบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อ-กระดูก และผู้ป่วยที่ผ่านการศัลยกรรมกระดูก (ชนาทิพย์ พลพิจิตร์, 2561) การฟื้นฟูสภาพร่างกายเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บาดเจ็บฟื้นตัวได้เร็วและเต็มที่ที่สุดขั้นตอนแรกของโปรแกรมจะเน้นการเคลื่อนไหวร่างกายใช้การฝึกเดินด้วยอุปกรณ์แบบดั้งเดิมหรือราวคู่ และยังมีปัญหาบางอย่างที่ต้องแก้ไขในบางรายที่มีอาการทางระบบประสาทรุนแรงอาจทรงตัวไม่ได้เอง ซึ่งอาจจะต้องมีนักกายภาพบำบัดมากกว่าหนึ่งคนคอยช่วยเหลือเพื่อป้องกันการหกล้ม จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษา เพื่อพัฒนากายอุปกรณ์เครื่องพยุงฝึกเดินให้กับผู้ป่วย ที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัว และการเดินที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม สามารถพยุงน้ำหนักได้บางส่วน ช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ เพื่อฟื้นฟูคืนความแข็งแรงหลังจากได้รับบาดเจ็บ ให้กลับมาเป็นปกติมากที่สุด สร้างความมั่นใจต่อการฝึกเดิน เมื่อเทียบกับการใช้เทคนิคทั่วไป เช่น การใช้ไม้เท้าสี่ขาช่วยเดิน (Walker) โดยการพัฒนากายอุปกรณ์เครื่องพยุงฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยสำหรับผู้สูงอายุการเลือกใช้อุปกรณ์ที่สามารถช่วยในการพยุงรองรับน้ำหนัก มีความแข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินของอาสาสมัคร และเกิดความพึงพอใจภายหลังจากการฝึกเดินระยะทางในการเดินที่ไกลกว่าเดิมความสามารถในการทรงตัวที่ดี ราคาต้นทุนต่ำ และสามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งคุณภาพในการเดินมีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ถือเป็น“ทางเลือกใหม่”ที่เข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์ และการฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นการศึกษาเพื่อแพร่กระจายนวัตกรรมเครื่องพยุงฝึกเดิน ช่วยให้ผู้สูงอายุฝึกพัฒนาร่างกาย สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น เข้าถึงอุปกรณ์ให้มากที่สุด ทั้งนี้ความสามารถของโรงพยาบาลในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางกายภาพแต่ละแห่งในปัจจุบันไม่เท่ากัน เนื่องจากอุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถภาพมีราคาแพงส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงได้มีการจัดทำกายอุปกรณ์เครื่องพยุงฝึกเดินตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้งาน และพัฒนาปรับปรุงให้ได้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องพยุงฝึกเดิน และเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุมากขึ้น
ผู้จัดทำ
ชัยวัฒน์ พรหมเพชร
#อาจารย์
สมาชิก
นวพล ประสิทธิเมตต์
NAWAPOL PRASITTIMET
#นักศึกษา
สมาชิก
อำนวย แสงโนรี
#อาจารย์
สมาชิก
ทอแสงรัศมี ถีถะแก้ว
#อาจารย์
สมาชิก
สามารถ ดีพิจารณ์
#อาจารย์
สมาชิก
โหวตนวัตกรรมนี้
กำลังดาวน์โหลด
Powered By KMITL Innovation Project