กลับไปที่นวัตกรรมทั้งหมด

นวัตกรรมการใช้สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืช ในการป้องกันกำจัดปรสิตนอกของไก่ในสภาพฟาร์ม

Innovation Using of Using Plant Essential Oil Formulas for Controlling Chicken Ectoparasites in Farm Conditions

@คณะเทคโนโลยีการเกษตร

#Cluster 2024
#BCG (Bio-Circular-Green Economy)
นวัตกรรมการใช้สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืช ในการป้องกันกำจัดปรสิตนอกของไก่ในสภาพฟาร์ม

รายละเอียด

การศึกษาประสิทธิภาพของสูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชต่อปรสิตภายนอกของไก่ในสภาพฟาร์ม มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืช ในการป้องกันกำจัดพยาธิภายนอกของไก่ ในสภาพฟาร์ม 2) เพื่อศึกษาผลของการใช้สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืช ในการป้องกันกำจัดปรสิตขายนอกของไก่ ต่อค่าทางโลหิตของไก่ คุณภาพของไข่ไก่และการออกไข่ของไก่ ที่เลี้ยงในสภาพฟาร์ม และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่สวยงาม และ 3) เพื่อพัฒนาสูตรตำรับสูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืช ในการป้องกันกำจัดปรสิตนอกของไก่ ในสภาพฟาร์ม  ดำเนินการสำรวจความชุกชุมของปรสิตภายนอกของไก่ ในฟาร์มเลี้ยงไก่เขตตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเตรียมสูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชนาโนที่ได้จาก กานพลู อบเชย และ ขมิ้นชัน ทำการทดสอบประสิทธิภาพสูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชนาโนในห้องปฏิบัติการและในสภาพฟาร์มไก่ไข่ ทำการศึกษาสมรรถนะของการออกไข่ของแม่ไก่ ค่าทางโลหิตของแม่ไก่ และสารพิษตกค้างในไข่ไก่ หลังจากการใช้สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชในการป้องกันกำจัดปรสิตภายนอกของไก่ในสภาพฟาร์มไก่ไข่ รวมทั้งมีการศึกษาผลของการใช้สูตรน้ำมันหอมระเหยในการกำจัดปรสิตภายนอกของไก่ของเกษตรกรที่เลี้ยงไก่สวยงาม  จากการสำรวจความชุกของปรสิตภายนอกของไก่ พบว่าความชุกชุมของไร Megninia cubitalis ที่พบในขนและผิวหนังมีเปอร์เซ็นต์ความชุกชุมเท่ากับ 77.08 และ 66.66% ตามลำดับ และพบเหา Menopon gallinae เท่ากับ 60.41 และ 64.58% ตามลำดับ  จากการศึกษาขนาดอนุภาคของสูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชนาโนที่ความเข้มข้น 1% ในน้ำ ในรูปของอิมัลชันสูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืช พบว่า สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชนาโน สูตร NEOF-1 และ NEOF-2 ที่มีอัตราส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยจากกานพลู : อบเชย : ขมิ้นชัน เท่ากับ 4:0:0 และ 2:2:0 ตามลำดับ มีขนาดอนุภาคประมาณ 20 nm โดยมีประสิทธิภาพในการฆ่าเหาขนไก่ (Menopon gallinae) และ ไรไก่ (Megninia ginglymura) ได้ 100% ภายใน 3 ชั่วโมง ในห้องปฏิบัติการ เมื่อนำสูตรฯ ดังกล่าวมาใช้กำจัดปรสิตภายนอกของไก่ในสภาพฟาร์ม ที่ความเข้มข้น 0.25% พบว่าปริมาณปรสิตภายนอกของไก่ลดลงมากกว่า 80% หลังจากการใช้ครั้งแรก และลดลงมากกว่า 95% หลังจากการจุ่มครั้งที่สอง จากการศึกษาผลการใช้สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชนาโนในการป้องกันกำจัดปรสิตภายนอกของไก่ไข่ในสภาพฟาร์มไก่ต่อสมรรถภาพการผลิตไข่ของแม่ไก่ไข่ ค่าทางโลหิตวิทยาของไก่ไข่ และสารพิษตกค้างในไข่ไก่ พบว่าสมรรถภาพการผลิตไข่ของแม่ไก่ไข่หลังจากการทดสอบในกลุ่มการใช้สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชนาโน ไม่แตกต่างกับกลุ่มการใช้สารเคมี แต่มีสมรรถนะการผลิตไข่ที่สูงกว่าในไก่ไข่กลุ่มที่ไม่มีการทดสอบ ขณะที่คุณภาพทางโลหิตของแม่ไก่ไม่แตกต่างกับกลุ่มการใช้สารเคมีและไม่มีการทดสอบ ขณะที่ยังพบสารเคมีไซเพอร์เมทรินมากกว่า 0.15 พีพีเอ็ม ในสัปดาห์ที่ 8 หลังการทดสอบ  จากการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชนาโนต่อปรสิตภายนอกของไก่สวยงาม พบว่าสูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชนาโนมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดปรสิตภายนอกของไก่สวยงามด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถป้องกันกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใน 7 วัน หลังจาการทดสอบ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมการทดสอบมีความพึงพอใจด้านตัวผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับสูงมากที่สุด

วัตถุประสงค์

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เหมาะสมกับการเลี้ยงไก่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีรายงานว่าในปี 2561 มีการผลผลิตไก่เนื้อมากกว่า 1,500 ล้านตัว ขณะที่ผลผลิตไข่ไก่มากกว่า 14 พันล้านฟอง ซึ่งการผลิตไก่เนื้อและไก่ไข่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี (กองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 1, 2561; กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, 2562) ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการเลี้ยงเป็นระบบอุตสาหกรรม เพื่อใช้บริโภคในประเทศและส่งออกนำรายได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี การเลี้ยงไก่ในประเทศไทย มี 2 ระบบใหญ่ๆ คือ ระบบอุตสาหกรรม เป็นการเลี้ยงจำนวนมากในแต่ละฟาร์ม และระบบการเลี้ยงไก่ในชนบท เป็นการเลี้ยงไก่พื้นเมืองรายย่อย หรือการเลี้ยงแบบหลังบ้าน เป็นการเลี้ยงเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนหรือเป็นรายได้เสริม นอกจากนั้นในปัจจุบันเกษตรกรยังหันมานิยมเลี้ยงไก่สวยงามมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมีความต้องการของตลาดสูง สามารถสร้างรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท (ธเนตร, 2560) ซึ่งปัจจุบันสาเหตุสำคัญของการเลี้ยงที่ทำให้ไก่ตายคราวละมากๆ มักเกิดจากโรคระบาดชนิดต่างๆ เช่นโรคนิวคาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบ โรคหวัดหน้าบวม โรคอหิวาต์สัตว์ปีก และไข้หวัดนก เป็นต้น การป้องกันโรคระบาดดังกล่าวนี้โดยการใช้วัคซีน ซึ่งปัญหาในการเลี้ยงสัตว์ปีกนอกจากการระบาดของโรคแล้วนั้นยังพบการระบาดของพยาธิภายนอกหรือปรสิตภายนอก (Ectoparasite) ได้แก่ ไร (mite) และเหา (louse) ซึ่งปรสิตภายนอกที่ระบาดมากในการเลี้ยงสัตว์ไก่ จะกินอาหารผ่านผิวหนังของไก่ เช่น การดูดเลือดและการกัดกินเศษผิวหนัง สร้างความรําคาญทั้งกลางวันและกลางคืน ไก่ไม่มีความสุข สุขภาพไก่อ่อนแอ ซูบผอมลง โลหิตจาง  ไข่ลดลง โตช้า และความต้านทานโรคลดลง ถ้ามีประชากรของปรสิตเหล่านี้เป็นจำนวนมากจะส่งผลให้ผลผลิตลดลง เช่น การให้ไข่ การเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการกินอาหาร และอาจทำให้ไก่ตายได้ (ประภากร, 2560ก,ข) การระบาดของปรสิตเหล่านี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้เพาะเลี้ยงอย่างมากต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง ไก่ไม่ได้คุณภาพ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงไก่ขาดทุน ต้องเลิกกิจการเป็นต้น ซึ่งในการกำจัดปรสิตภายนอกไก่นั้น ผู้เลี้ยงไก่ในประเทศไทยมักจะใช้สารกำจัดแมลงคือ ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต คาร์บาเมต และไพริทรอยด์ ในการกำจัดปรสิตเหล่านี้โดยการฉีดพ่นลงบนตัวไก่หรือนำไก่มาจุ่มลงในน้ำยา (ประภากร, 2560ก,ข; ถนอมจิตร, 2530) ปัจจุบันมีรายงานการใช้สารกำจัดแมลงในกลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต คาร์บาเมต สไปโนซิน และไพริทรอยด์ ในการกำจัดเหาและไรในสัตว์ปีก เช่นกัน (Diki et al., 2017; College of Agriculture, Food and Environment, University of Kentucky, 2017) ซึ่งการใช้สารฆ่าแมลงจะส่งผลให้เกิดอาจปนเปื้อนและมีฤทธิ์ตกค้างในเนื้อไก่ได้และมีโอกาสเกิดการสะสมในร่างกายของผู้บริโภค (Aulakh et al., 2006) ทำให้เสี่ยงต่อ การเกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งไต และมะเร็งตับได้ (กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2552) นอกจากนั้นยังส่งผลให้ปรสิตเหล่านั้นเกิดความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงได้ (Kristensen et al., 2006)  การใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพรในการป้องกันกำจัดปรสิตภายนอกของสัตว์ปีกจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในปัจจุบัน มีรายงานมากมายถึงประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชสมุนไพรในการป้องกันกำจัดแมลงและไร เช่น น้ำมันหอมระเหยจากกานพลู อบเชย ขมิ้นชัน จันทน์แปดกลีบ พริกไทยดำ ตะไคร้บ้าน และตะไคร้หอม เป็นต้น (Pumnuan et al., 2008; Pumnuan et al., 2011, 2016; Benelli et al., 2012) และมีรายงานอีกหลายฉบับที่สนับสนุนว่าพืชสมุนไพรมีศักยภาพในการป้องกันกำจัดปรสิตภายนอกของไก้ได้ (Salifou et al., 2013; Lagu and Kayanja, 2010) ซึ่งการใช้สารสกัดจากพืชนอกจากจะสามารถป้องกันกำจัดแมลงและไรได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังไม่มีสารพิษตกค้างในเนื้อสัตว์สัตว์ปีกอีกด้วย จากรายงาน Pumnuan et al. (2020) พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูมีคุณสมบัติในการฆ่าเหาไก่ (Lipeurus caponis L.) สูงสุด ในสภาพห้องปฏิบัติการ สามารถกำจัดเหาไก่ได้อย่างสมบูรณ์ (100%) ภายใน 4 ชั่วโมง เมื่อสัมผัสกับน้ำมันหอมระเหยจากกานพลู รองลงมาคือน้ำมันหอมระเหยจากอบเชยและขมิ้นชัน ตามลำดับ ซึ่งสามารถนำน้ำมันหอมระเหยจากกานพลู อบเชย และขมิ้นชัน ไปใช้เป็นสารป้องกันกำจัดปรสิตภายนอกของการเลี้ยงสัตว์ปีกในสภาพฟาร์มได้ การเสนอหัวข้องานวิจัยนี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้สูตรน้ำมันหอมระเหยจากกานพลู อบเชย และขมิ้นชัน ที่มีรายงานว่ามีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดปรสิตภายนอกของไก่ได้ดี ในการป้องกันกำจัดปรสิตภายนอกของไก่ในสภาพฟาร์มไก่ไข่ โดยวิธีการจุ่มตัวไก่ลงในสารทดสอบและวิธีการฉีดพ่นโดยตรงบนตัวไก่ ก่อนนำไปเลี้ยงแบบขังกรงและเลี้ยงแบบปล่อย (ไก่อารมณ์ดี) โดยศึกษาเปรียบเทียบกับการใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัด ทั้งนี้จะคำนึงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดปรสิตภายนอก (เหาไก่ และ ไรไก่) รวมทั้งการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนปรสิตกับค่าทางโลหิตของไก่ และคุณภาพของไข่ไก่และการออกไข่ของไก่ นอกจากนี้ยังมีการนำสูตรตำรับไปทดลองใช้ไก่สวยงามอีกด้วย เพื่อสามารถนำไปใช้ได้จริงของเกษตรกรเพาะเลี้ยงไก่ต่อไป จึงต้องการการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัย เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมการป้องกันกำจัดปรสิตภายนอกของไก่โดยใช้สูตรสมุนพรจากพืช และยกระดับคุณภาพของไข่ไก่ให้สูงขึ้น และสามารถยื่นขอจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรในส่วนของกรรมวิธีการการใช้หรือสูตรตำรับได้

ผู้จัดทำ

จรงค์ศักดิ์ พุมนวน
Jarongsak Pumnuan

#อาจารย์

สมาชิก

โหวตนวัตกรรมนี้

กำลังดาวน์โหลด