กลับไปที่นวัตกรรมทั้งหมด

การเปรียบเทียบนโยบายการควบคุมพัสดุคงคลังสำหรับปัญหาความต้องการที่ไม่แน่นอน : กรณีศึกษาบริษัทผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดแห่งหนึ่ง

Comparison of Inventory Control Policies for the Problem of Uncertain Demand: A Case Study of a Bottled Potable Water Production Company

@คณะวิศวกรรมศาสตร์

#KLLC 2024
#Industry 4.0
การเปรียบเทียบนโยบายการควบคุมพัสดุคงคลังสำหรับปัญหาความต้องการที่ไม่แน่นอน : กรณีศึกษาบริษัทผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดแห่งหนึ่ง

รายละเอียด

งานวิจัยนี้ศึกษารูปแบบนโยบายคลังสินค้าที่เหมาะสม โดยให้ต้นทุนรวมต่ำที่สุด โดยการนำข้อมูลความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวดของลูกค้าในอดีตมาวิเคราะห์ ซึ่งพบว่าข้อมูลเป็นความต้องการที่ไม่แน่นอน (Stochastic Demand) และความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวดของลูกค้าเป็นรูปแบบแนวโน้ม (Trend Pattern) และแบบฤดูกาล (Season Pattern) จากนั้นนำข้อมูลของความต้องการสินค้าในอดีตมาพยากรณ์ความต้องการสินค้าในเชิงปริมาณ ด้วยวิธีการพยากรณ์ 2 วิธี คือ วิธีค่าเฉลี่ยเคลือนที่อย่างง่ายและวิธีค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ถ่วงน้ำหนักแบบเอ็กซ์โพเนนเซียล ในช่วงเวลาทั้งหมด 3 ปี ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 และนำค่าพยากรณ์ความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวดของลูกค้าไปคำนวณนโยบายสินค้าคงคลัง 2 รูปแบบจำลอง คือ  แบบจำลองจุดสั่งซื้อและปริมาณการสั่งคงที ((Q,R) Inventory Policy) และแบบจำลองระดับคงคลังเป้าหมาย ((T,S) Inventory Policy) เมื่อ T มีค่าเท่ากับ 1 2 3 4 5 6 และ 7 หลังจากนั้นวิเคราะห์และเปรียบเทียบต้นทุนสินค้าคงคลังหรือต้นทุนรวม คือ ต้นทุนการเก็บรักษา (Holding Cost) ต้นทุนการสั่งซื้อ (Ordering Cost) ต้นทุนค้างส่ง (Backorder Cost) และต้นทุนค่าจ้างล่วงเวลา (Overtime Cost) เพื่อหารูปแบบนโยบายคลังสินค้าที่เหมาะสม และให้ต้นทุนรวมต่ำที่สุด 
ผลวิจัยพบว่า วิธีการพยากรณ์ที่แตกต่าง คือ วิธีค่าเฉลี่ยเคลือนที่อย่างง่ายและวิธีค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ถ่วงน้ำหนักแบบเอ็กซ์โพเนนเซียล ได้ผลลัพธ์ที่มีต้นทุนรวมต่ำที่สุดจากนโยบายคลังสินเดียวกัน คือ (T,S) เมื่อ T=3 โดยการพยากรณ์ด้วยวิธีค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่อย่างง่าย เมื่อโร (rho) มีค่าเท่ากับ 5 ให้ต้นทุนรวมเป็นมูลค่า 588,203 บาทและการพยากรณ์ด้วยวิธีเฉลี่ยเคลื่อนที่ถ่วงน้ำหนักแบบเอ็กซ์โพเนนเซียล เมื่อแอลฟา (alpha) มีเท่ากับ 0.3 ให้ต้นทุนรวมเป็นมูลค่า 566,255 บาท ในช่วงเวลาตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566

วัตถุประสงค์

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีหลากหลายประเภท ซึ่งอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่สำคัญ และอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวด เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง  แต่การพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาต่อเนื่องจนสามารถช่วยลดต้นทุนเครื่องจักรและต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ทำให้สภาวะการแข่งขันในการผลิตและจำหน่ายสูงทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 60 ถูกควบคุมโดยผู้ผลิตรายใหญ่นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตรายเล็กที่เน้นตลาดต่างจังหวัดทำให้ภาคการผลิตจำเป็นต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ โดยปัจจัยสำคัญของภาคการผลิต คือ การลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ (Material Cost) ต้นทุนการสั่งซื้อ (Ordering Cost) ต้นทุนการจัดเก็บ (Holding Cost) ต้นทุนแรงงาน (Labor Cost) ต้นทุนค่าจ้างล่วงเวลา (Overtime Cost) และต้นทุนค้างส่ง (Backorder Cost) เป็นต้น 
จากบริษัทกรณีศึกษาเป็นธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวด เมื่อพิจารณาจากคลังสินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) ของน้ำดื่มบรรจุขวดและวัตถุดิบ (Raw Material) พบว่าสินค้าคงคลังมีจำนวนมากเกินไป โดยมีสาเหตุอันเนื่องมาจาก
1. ไม่มีการกำหนดนโยบายสินค้าคงคลัง จึงทำให้สินค้าคงคลังมีจำนวนมากเกินไป ส่งผลให้มีต้นทุนการจัดเก็บรักษาสูง
2. ไม่มีการวางแผนการผลิต และไม่มีการนำข้อมูลการขายในอดีตมาวิเคราะห์ทางด้านสถิติ จึงไม่สามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าได้ ส่งผลให้มีสินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) มากเกินไป
3. มีการตรวจสินค้าคงคลังแบบต่อเนื่อง (Continuous Inventory System) และสั่งซื้อวัตถุดิบด้วยการใช้ประสบการณ์และความชำนาญจากผู้ปฏิบัติงาน โดยไม่มีวิธีการที่แน่ชัด ส่งผลให้วัตถุดิบ (Raw Material) มีจำนวนมากเกินไป
จากข้อมูลการสั่งซื้อวัตถุดิบ (Raw Material) และความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวดของปี 2566 พบว่ามีปริมาณการสั่งซื้อมากกว่าความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวดของลูกค้า และทำให้ระดับสินค้าคงคลังสูง จึงส่งผลให้ต้นทุนรวมสูงตามไปด้วย

ผู้จัดทำ

อริสรา จันทร์ปลูก
ARISSARA CHANPLOOK

#นักศึกษา

สมาชิก
ธนากร สุภาพักตร์
TANAKORN SUPAPAK

#นักศึกษา

สมาชิก
สิปปกร อำนวยศิริ
SIPPAKORN AMNUAYSIRI

#นักศึกษา

สมาชิก
กิตติวัฒน์ สิริเกษมสุข
Kittiwat Sirikasemsuk

#อาจารย์

อาจารย์ที่ปรึกษา

โหวตนวัตกรรมนี้

กำลังดาวน์โหลด