กลับไปที่นวัตกรรมทั้งหมด

การพัฒนาบอร์ดบูรณาการเพื่อการเรียนรู้การทำงานหุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน

A development of integrated board for learning robot to enhance student’s creative thinking ability

@คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี

#Cluster 2024
#Digital Technology
การพัฒนาบอร์ดบูรณาการเพื่อการเรียนรู้การทำงานหุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน

รายละเอียด

ปริญญานิพนธ์ฉบับนี้กล่าวถึงขั้นตอนการพัฒนาบอร์ดบูรณาการเพื่อการเรียนรู้การทำงานหุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุปกรณ์ วิธีการใช้งานส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ใช้ในการพัฒนาบอร์ด ออกแบบบอร์ด สร้างบอร์ด ทดลองการใช้งานบอร์ด และการนำบอร์ดไปใช้งานจริงกับบุคคลที่สนใจหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการเรียนรู้จากบอร์ดบูรณาการเพื่อการเรียนรู้การทำงานหุ่นยนต์ โดยจะมีคู่มือการใช้งานของบอร์ด การสร้างหุ่นยนต์พื้นฐานจากบอร์ด จนถึงระดับขั้นการนำเอาวิธีสร้างหุ่นยนต์พื้นฐานจากบอร์ดและความคิดสร้างสรรค์มารวมกันเป็นชิ้นงานในขั้นประยุกต์ได้อีกในระดับหนึ่ง

วัตถุประสงค์

วิชาวิทยาการคำนวณเข้ามามีบทบาทในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปีการศึกษา 2561 (พฤษภาคม 2561) ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเริ่มต้นใน 4 ชั้นเรียนก่อน คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีต่อไป เริ่มในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2563 เริ่มในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (แคมป์ปัส, 2561) 
วิทยาการคำนวณ (Computing science) เป็นวิชาที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนให้เด็กสามารถคิดเชิงคำนวณ (Computational thinking) มีความพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital technology) และมีพื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (Media and information literacy) ซึ่งการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ จะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การคิดให้เหมือนคอมพิวเตอร์เท่านั้น และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการคิดในศาสตร์ของนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นกระบวนการความคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ โดยเป็นการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและช่วยแก้ไขปัญหาตามที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ มีเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาผู้เรียนกล่าวคือเพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถใช้ทักษะการคิดเชิงคำนวณในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ มีทักษะในการค้นหาข้อมูลหรือสารสนเทศ ประเมิน จัดการ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำสารสนเทศไปใช้ในการแก้ปัญหา สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ สื่อดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง การทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือสังคม และสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างปลอดภัย รู้เท่าทัน มีความรับผิดชอบมีจริยธรรม (วัชรพัฒน์ ศรีคำเวียง, 2562) 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนหลักสูตร จึงจำเป็นต้องให้ครูวิชาวิทยาศาสตร์หรือสาระเทคโนโลยีมาช่วยทำการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนครูน้อย นอกจากนั้นครูหนึ่งคนอาจจำเป็นต้องรับผิดชอบหลายรายวิชา ทำให้ครูอาจขาดความพร้อมทั้งในด้านเนื้อหารายวิชาและกระบวนการสอนที่เหมาะสม ก็จะส่งผลต่อกระบวนการสอนหรือการถ่ายทอดความรู้ ถ้าครูสอนวิชาวิทยาการคำนวณโดยที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ก็อาจจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดีต่อผู้เรียน รวมทั้งครูบางท่านอาจจะขาดประสบการณ์เหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้กระบวนการเรียนการสอนขาดความต่อเนื่องและลดความสามารถในการถ่ายทอดให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ลง (ภูมิปรินทร์ มะโน, 2561) จากปัญหาดังกล่าว สสวท. จึงได้จัดให้มีการอบรมออนไลน์ว่าด้วยการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับครู เพื่อให้ครูมีความเข้าใจในสาระการเรียนรู้และแนวทางการจัดการเรียนรู้รายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) (พงศ์ธนัช แซ่จู, 2562) 
นอกจากปัญหาด้านเนื้อหาแล้ว กระบวนการเรียนการสอนที่ทำให้การเรียนรู้วิชานี้น่าสนใจและจับต้องได้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้รวมทั้งการขาดแคลนงบประมาณของโรงเรียนในการที่จะจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็นและได้มีประสบการณ์ตรงได้มากขึ้น ก็อาจจะเป็นปัญหาได้เช่นเดียวกัน (Fehr, Pentz, & Dickert, 2015) ตัวอย่างเช่นการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานของเล่นสร้างเสริมปัญญา เช่น ของเล่นหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เป็นต้น (Chin, Hong, & Chen, 2014) ซึ่งผู้เรียนอาจจะไม่เคยจับต้องของเล่นเหล่านี้ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมได้

ผู้จัดทำ

ปิยะวัฒน์ บุญชัยเกียรติ
PIYAWAT BOONCHAIKIAT

#นักศึกษา

สมาชิก
ณัฐวุฒิ อุดเสริม
NATTAWUT AUTSOEM

#นักศึกษา

สมาชิก
พิชญ์สินี มะโน
Pitsini Mano

#อาจารย์

อาจารย์ที่ปรึกษา

โหวตนวัตกรรมนี้

กำลังดาวน์โหลด