กลับไปที่นวัตกรรมทั้งหมด

การปรับปรุงผังคลังสินค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในกระบวนการจัดเตรียมสินค้า กรณีศึกษา: ห้างหุ้นส่วนจำกัด บีแอนด์เอ็ม 2018

Warehouse Layout Improvement for Operational Efficiency in Goods Picking Process: Case Study of B&M 2018 Part., Ltd.

@คณะวิศวกรรมศาสตร์

#KLLC 2024
#Industry 4.0
การปรับปรุงผังคลังสินค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในกระบวนการจัดเตรียมสินค้า กรณีศึกษา: ห้างหุ้นส่วนจำกัด บีแอนด์เอ็ม 2018

รายละเอียด

โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงผังคลังสินค้าสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในกระบวนการจัดเตรียมสินค้า ของคลังสินค้าห้างหุ้นส่วนจำกัด บีแอนด์เอ็ม2018 จากรูปแบบการจัดเก็บสินค้าแบบปัจจุบันที่มีการวางสินค้าแบบสุ่มพื้นที่การจัดวาง ซึ่งส่งผลให้เกิดการเคลื่อนที่ที่สูญเปล่า ใช้เวลาในการจัดเตรียมสินค้าก่อนจัดส่งนานเกินกว่าที่จำเป็น จึงได้มีการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันของคลัง เก็บรวบรวมข้อมูลสินค้าที่มีการจัดจำหน่าย และคำสั่งซื้อจากลูกค้าย้อนหลัง 5 เดือน นำมาวิเคราะห์และทำการเลือกลูกค้าที่มีการสั่งซื้อมูลค่า 80% ของการสั่งซื้อทั้งหมดที่มีการเก็บรวบรวมไว้ เพื่อนำมาใช้เป็นขอบเขตของการทำโครงงาน นำรายการสินค้ามาจัดเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะหรือประเภทสินค้า ทำการออกแบบพื้นที่การจัดวางสินค้าใหม่โดยคำนึงถึงช่องทางเดิน ความสามารถในการจัดวางในแต่ละพื้นที่และลักษณะของการหยิบสินค้าของพนักงาน เมื่อได้พื้นที่คลังแล้วทำการหาสัดส่วนพื้นที่ที่ต้องการของสินค้าแต่ละประเภทอ้างอิงจากข้อมูลการสั่งซื้อย้อนหลังที่มีการจัดเก็บ และได้มีการจัดกลุ่มของสินค้าภายในคลัง โดยใช้เทคนิค ABC Classification จากปริมาณการส่งออก จัดกลุ่มสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวเร็ว เคลื่อนไหวปานกลาง และเคลื่อนไหวช้า เพื่อนำไปใช้จัดตำแหน่งการวางสินค้า ซึ่งสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวเร็วจะถูกจัดอยู่ใกล้พื้นที่การรับและจัดส่งมากที่สุด สินค้าที่มีความเคลื่อนไหวปานกลางจะถูกจัดไกลออกไป และสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวช้าจะถูกจัดในตำแหน่งที่ไกลสุด เพื่อลดระยะเวลาในกระบวนการจัดเตรียมสินค้าก่อนการจัดส่ง

วัตถุประสงค์

คณะผู้จัดทำได้ศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพของคลังสินค้า กรณีศึกษาห้างหุ้นส่วนจำกัด บีแอนด์เอ็ม 2018 ตั้งอยู่ที่ บ้านกระแชงใหญ่ ตำบลกระแชง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นวิสาหกิจขนาดย่อม (SME) ประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งเครื่องดื่มทุกชนิดและสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป โดยมีการจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่ร้านค้าปลีก จำหน่ายสินค้าเพื่อใช้ในงานต่างๆ และจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไป ลักษณะธุรกิจเป็นการบริหารงานกันภายในครอบครัว โดยจากการสำรวจสภาพปัจจุบันของคลังสินค้าของสถานประกอบการพบว่า มีการจัดเก็บสินค้าที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ด ประมาณ 200-300 รายการ ที่มีการหมุนเวียนเข้าออกและถูกจัดเก็บภายในคลังสินค้า แต่ไม่มีระบบการจัดการคลังที่มีประสิทธิภาพ คลังสินค้าไม่มีการกำหนดโซนในการจัดเก็บสินค้า หรือการแบ่งประเภทของสินค้าที่ชัดเจน ไม่มีป้ายหรือสัญลักษณ์บ่งบอกตำแหน่งของสินค้า ไม่มีการกำหนดพื้นที่ในการเก็บสินค้าที่เหมาะสม เมื่อมีการรับสินค้าเข้ามาจะนำไปวางสินค้าในบริเวณพื้นที่ว่าง ไม่แยกชนิดสินค้าที่จัดเก็บในพาเลท ทำให้สินค้าหลายชนิดมีการวางปะปนอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน สินค้าชนิดเดียวกันมีการวางกระจายอยู่หลายตำแหน่งทั้งภายในพื้นที่หลัก และลานด้านนอก แต่บางรายการที่มีปริมาณการสั่งจำนวนมากจะมีโซนสำหรับการจัดเก็บเฉพาะ เช่น สินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากลักษณะข้างต้นจึงส่งผลให้เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งโดยเฉลี่ยคำสั่งซื้อต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 คำสั่งซื้อ พนักงานจะใช้เวลาในการจัดเตรียมสินค้าเป็นเวลานานเกินความจำเป็น เพราะสินค้าบางรายการพนักงานก็ไม่สามารถทราบได้ว่ามีการจัดเก็บอยู่ที่ตำแหน่งใดภายในคลัง ดังนั้นคลังสินค้าที่ได้รับการออกแบบผังที่ดีจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินงานภายในคลังสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้จัดทำ

สริดา นาคคล้าย
SARIDA NAKKLAI

#นักศึกษา

สมาชิก
อัฑฒ์ เทียมทัศน์
AT TIAMTAT

#นักศึกษา

สมาชิก
สิทธิพร พิมพ์สกุล
Sittiporn Pimsakul

#อาจารย์

อาจารย์ที่ปรึกษา

โหวตนวัตกรรมนี้

กำลังดาวน์โหลด