กลับไปที่นวัตกรรมทั้งหมด

ผลของกัมอารบิกต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองในระหว่างการเก็บรักษา

Effect of Gum Arabic on Postharvest Quality of Mango cv. Namdokmai Sithong during Storage

@คณะเทคโนโลยีการเกษตร

#Cluster 2024
#BCG (Bio-Circular-Green Economy)
ผลของกัมอารบิกต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองในระหว่างการเก็บรักษา

รายละเอียด

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกัมอารบิกต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองในระหว่างการเก็บรักษา โดยแบ่งออกเป็น 4 กรรมวิธี  4 ซ้ำ คัดเลือกผลมะม่วง     ในระยะสุกแก่ทางการค้า ล้างทำความสะอาดด้วยคลอรีน 200 ppm ผึ่งให้แห้งแล้วนำผลมะม่วงมาจุ่มในสารละลายกัมอารบิกที่ความเข้มข้นร้อยละ 0 5 10 และ 20 เป็นเวลา 3 นาที  หลังจากจุ่มสารละลายแล้ว ผึ่งให้แห้งเก็บรักษาที่อุณหภูมิบรรยากาศปกติ (25±2 องศาเซลเซียส) ความชื้นสัมพัทธ์ (74±5%) เป็นเวลา 14 วัน และสุ่มตัวอย่างเพื่อเก็บผลการทดลองทุก 2 วัน ผลการทดลองพบว่า กัมอารบิกที่ความเข้มข้นร้อยละ 10 และ 20 สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้ โดยช่วยชะลอการสูญเสียน้ำหนัก การเปลี่ยนแปลงสีเปลือกและสีเนื้อ (ค่า L a b) ค่าของความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ คะแนนสีเปลือก และชะลอการเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยวได้ 

วัตถุประสงค์

มะม่วง (Mango) เป็นไม้ผลเศรษฐกิจ มีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมะม่วงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สถิติการส่งออกมะม่วงของไทยไปยังตลาดโลกในปี 2563    มีปริมาณการส่งออกมะม่วงสด 8,726 ตัน เพิ่มขึ้น 49.14% มูลค่า 1,953 ล้านบาท (สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, 2564) มะม่วงมีมากมายหลายสายพันธุ์แต่มะม่วงที่มีความนิยมบริโภคกันส่วนใหญ่ คือ มะม่วงเขียวเสวย มะม่วงแรด มะม่วงอกร่องและมะม่วงน้ำดอกไม้ ปัญหาสำคัญที่พบในการส่งออกมะม่วงไปจำหน่ายยังต่างประเทศ คือ การเสื่อมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและอายุการวางจำหน่ายสั้น การสูญเสียของผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของตัวผลิตผล เนื่องจากผลิตผลเมื่อเก็บเกี่ยวจากต้นแล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การหายใจ การคายน้ำ (คมจันทร์ และคณะ, 2559) ทั้งนี้มะม่วงจัดเป็นไม้ผลประเภท climacteric ที่มีกระบวนการสุกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น การเปลี่ยนสี การอ่อนนุ่มและการเปลี่ยนแปลงทางเคมี  เช่น การหายใจ การผลิตเอทิลีนที่นำไปสู่การเสื่อมสภาพของผล          ในปัจจุบันได้มีการศึกษาการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองหลายวิธี เช่น การเก็บรักษาในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ การเคลือบผิว การใช้สารยับยั้งเอทิลีน การใช้ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น การใช้สารเคลือบผิวเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิต เนื่องจากสารเคลือบผิวเป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อทดแทนสารเคลือบผิวตามธรรมชาติที่หายไป โดยจะถูกนำไปเคลือบเป็นชั้นบาง ๆ อยู่ภายนอกของผล ช่วยลดการสูญเสียน้ำ ลดอัตราการแลกเปลี่ยนก๊าซ ส่งผลให้กระบวนการหายใจช้าลง ปัจจุบันการเคลือบผิวผลไม้ได้รับความสนใจ และนำมาใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้สำหรับการค้า สารเคลือบผิวชนิดที่รับประทานได้ เป็นสารที่ผลิตจากธรรมชาติ ได้แก่ พวกสารประกอบโพลีแซคคาไรด์ โปรตีน และไขมัน การใช้สารเคลือบผิวให้มีประสิทธิภาพจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมสำหรับผลผลิตแต่ละชนิด กัมอารบิก เป็นสารประกอบธรรมชาติชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มสารไฮโดรคอลลอยด์  (Hydrocolloids)  ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมอาหารเป็นน้ำยางธรรมชาติที่ไหลออกมาจากผิวเปลือกของลำต้นของพืชในกลุ่มอากาเซีย (Acacia) กัมอารบิกเป็นสารประกอบจากธรรมชาติที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี  ไม่มีรส  และที่สำคัญไม่เป็นพิษต่อร่างกายและมลภาวะ ซึ่งได้ผ่านการรับรองระบบมาตรฐานของอาหารโลก และได้รับกำหนดในตำรับ  GRAS  (Generally Recognized as Safe)   และมาตรฐานของ United State pharmacopeia, Food Chemical Codex  และ EU Number E414  รวมทั้งผ่านการรับรองจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทย (วารสารสถาบันอาหาร)

ผู้จัดทำ

สมศักดิ์ ครามโชติ

#อาจารย์

สมาชิก

โหวตนวัตกรรมนี้

กำลังดาวน์โหลด