กลับไปที่นวัตกรรมทั้งหมด
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจซื้อนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคธุรกิจบริการ
FACTORS AFFECTING SMALL AND MEDIUM-SIZED ENTERPRISES IN SERVICE SECTOR’S PURCHASE INTENSION INNOVATIVE SOLAR POWER AIRCONDITIONING SYSTEM
@วิทยาลัยการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม
#Cluster 2024
#BCG (Bio-Circular-Green Economy)
รายละเอียด
(1) เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปรต่อความตั้งใจซื้อนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคธุรกิจบริการ ที่มีจากตัวแปรด้านนโยบายรัฐบาล คุณลักษณะผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ความมีนวัตกรรมของผู้บริโภคและคุณค่าที่ผู้บริโภครับรู้ และ (2) เพื่อพัฒนารูปแบบสมการโครงสร้างเชิงเส้นของอิทธิพลของนโยบายรัฐบาล คุณลักษณะผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ความมีนวัตกรรมของผู้บริโภคและคุณค่าที่ผู้บริโภครับรู้ที่มีต่อความตั้งใจซื้อนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคธุรกิจบริการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ คือ ผู้บริหารของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคธุรกิจบริการ ที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศ จำนวน 320 คน และทำการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 2 ขั้นตอน จากการสุ่มแบบโควตา และการสุ่มแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความเบ้ ค่าความโด่ง การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันและการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง (SEM) ผลการวิจัยพบว่า ตัวแปรนโยบายรัฐบาล ความมีนวัตกรรมของผู้บริโภค และคุณค่าที่ผู้บริโภครับรู้ มีอิทธิพลทางตรงต่อความตั้งใจซื้อนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคธุรกิจบริการ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ และ ตัวแปรนโยบายรัฐบาล คุณลักษณะผลิตภัณฑ์นวัตกรรม และความมีนวัตกรรมของผู้บริโภค มี อิทธิพลทางตรงต่อความตั้งใจซื้อนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคธุรกิจบริการ โดยผ่านตัวแปรคุณค่าที่ผู้บริโภครับรู้ที่เป็นตัวแปรคั่นกลาง ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ โดยผลการพัฒนาโมเดลสมการโครงสร้าง พบว่า ตัวแปรที่มีอิทธิพลโดยรวม ต่อความตั้งใจซื้อนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคธุรกิจบริการ สูงที่สุด คือ ความมีนวัตกรรมของผู้บริโภค รองลงมา คือ คุณค่าที่ผู้บริโภครับรู้ นโยบายรัฐบาล และคุณลักษณะผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ตามลำดับ การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ทำให้ภาครัฐสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีการใช้งานเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นทำให้ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า และยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และผู้ประกอบธุรกิจเครื่องปรับอากาศสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม และกำหนดกลยุทธด้านการตลาดที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าของบริษัท
วัตถุประสงค์
เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ในการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ให้เหมาะสมเพื่อทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยเกิดความสบาย โดยประเทศไทยมีปริมาณเครื่องปรับอากาศภาคครัวเรือนจำนวน 22.70 ล้านเครื่อง (สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2560) และมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี เช่นในปี 2565 มีปริมาณการติดตั้งเครื่องปรับอากาศจำนวน 2.06 ล้านเครื่อง (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม. 2566) ซึ่งเครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากที่สุดในส่วนที่อยู่อาศัยและภาคธุรกิจ เครื่องปรับอากาศมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าถึงประมาณ 60% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของอาคาร (กระทรวงพลังงาน. 2565) ทำให้การใช้ไฟฟ้าเนื่องจากการใช้งานเครื่องปรับอากาศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงไฟฟ้าในปัจจุบันได้ใช้เชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และ ถ่านหิน มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งไอเสียที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเหล่านี้ได้ปล่อยก๊าซพิษออกมามาก เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) รวมไปถึงฝุ่นละอองต่างๆ ดังที่ ข้อมูลของ State of Global Air รายงานว่าไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 สูงถึง 32,200 คนในปี 2562 (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. 2566) เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากปัญหา มลภาวะ PM2.5 และปัญหาการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทางรัฐบาลได้มีประกาศให้ใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระยะเวลาครอบคลุมปี พ.ศ. 2561 – 2580 ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรพลังงานที่มีประสิทธิภาพ การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การจัดการและอนุรักษ์พลังงาน กฎระเบียบ รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกภาคส่วน ดังเช่น การกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 20,766 MW และจากมาตรการอนุรักษ์พลังงาน 4,000 MW รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนทางด้านการเงินการลงทุนเพื่อเร่งรัดให้ภาคเอกชนมีการตัดสินใจลงทุนด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น รวมทั้งลงทุนด้านการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2563) จากการที่นโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ทำให้ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจต่างๆ มีการลงทุนด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ที่แพร่หลายมากขึ้น จากการยอมรับของเทคโนโลยีและความคุ้มค่าในการลงทุน รวมทั้งภาคธุรกิจต่างๆ ยังได้มีการลงทุนในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นที่สินค้าที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นเพื่อลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศได้มีการพัฒนาเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์เข้ามาใช้ในเครื่องปรับอากาศ ทำให้เกิดเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ โดยสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศระบบธรรมดา และ การนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้ในเครื่องปรับอากาศ ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดและเหมาะที่จะใช้งานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากค่าเฉลี่ยความเข้มรังสีรวมของประเทศไทยได้รับรังสีดวงอาทิตย์มากกว่า 18 MJ/m2 ต่อวัน อยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น (กระทรวงพลังงาน. 2565) โดยผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศได้พัฒนาให้เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ให้สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานสำหรับเครื่องปรับอากาศ ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 75% เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศระบบธรรมดา โดยผู้ผลิตในประเทศไทยได้มีการพัฒนานวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์สำเร็จและขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย (สำนักงบประมาณ. 2563) นวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์เหมาะสำหรับการใช้งานในช่วงเวลาทำงาน 08.00 -17.00 น. เพราะแหล่งพลังงานสำหรับเครื่องปรับอากาศที่เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถผลิตได้ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตกดิน การใช้งานนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ จึงคุ้มค่ามากและเหมาะอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศในเวลากลางวัน เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในประเทศไทย โดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือว่าเป็นภาคส่วนที่สำคัญของประเทศ โดยในปี 2564 วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีจำนวนมากถึง 3,178,124 ราย คิดเป็น 99.57% ของวิสาหกิจทั้งประเทศและสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มูลค่าสูงถึง 5,603,433 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.60 ของ GDP รวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในภาคธุรกิจบริการนั้นมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สูงถึง 2,125,348 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.9 ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหมด และมีจำนวนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในภาคธุรกิจบริการ 1,275,215 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.12 ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหมด และค่าใช้จ่ายด้านพลังงานภายในสำนักงาน เช่น แสงสว่าง ความเย็น ความร้อน ของภาคธุรกิจบริการ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ และพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสูงที่สุดในประเทศไทย จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจซื้อนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อทราบถึงตัวแปรที่มีอิทธิพลทางตรง ทางอ้อม และอิทธิพลโดยรวมต่อความตั้งใจซื้อนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในภาคธุรกิจบริการของประเทศไทย โดยผลที่ได้สามารถเป็นแนวทางในการ ดำเนินธุรกิจของบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และรัฐบาลสามารถนำผลที่ได้เพื่อเป็นแนวทางให้ภาครัฐในการจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล และเป็นแนวทางให้กับภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบธุรกิจเครื่องปรับอากาศ ในการกำหนดกลยุทธ์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ การตลาดการบริการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้จัดทำ
สุรพงษ์ สิริพงศ์ดี
Surapong Siripongdee
#อาจารย์
สมาชิก
สุจิรา วุฒิโสภณ
sujira vuthisopon
#อาจารย์
สมาชิก
โหวตนวัตกรรมนี้
กำลังดาวน์โหลด
Powered By KMITL Innovation Project