กลับไปที่นวัตกรรมทั้งหมด
เครื่องฟอกอากาศแบบโอโซนโดยความเข้มสนามไฟฟ้า
Ozone Air Purifier by Electric Field Intensity
@คณะวิศวกรรมศาสตร์
#KLLC 2024
#Healthcare and Wellness
รายละเอียด
ปริญญานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการออกแบบเครื่องฟอกอากาศแบบโอโซนโดยอาศัยความเข้มสนามไฟฟ้า มีคุณสมบัติฟอกอากาศเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองและสร้างโอโซนเพื่อสลายเชื้อโรค ขั้นตอนการฟอกอากาศจะอาศัยหลักการไฟฟ้าสถิตในการดักจับฝุ่นโดยการออกแบบจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะทำการอัดประจุให้กับอนุภาคทำให้อนุภาคมีประจุ จากนั้นส่วนที่สองอนุภาคจะถูกดักจับไปติดในส่วนดักจับฝุ่นซึ่งเป็นแผ่นโลหะวางขนานกันมีสนามไฟฟ้าระหว่างแผ่น ข้อจำกัดของการฟอกอากาศ คือ ฟอกอากาศได้เฉพาะในส่วนของอากาศที่ดูดเข้าเครื่องได้ จึงไม่สามารถสลายเชื้อโรคในซอกมุมอับได้ ดังนั้นจึงสร้างโอโซนจากสนามไฟฟ้าเพื่อกระจายโอโซนไปสลายเชื้อโรคในซอกมุมอับ ซึ่งการสร้างสนามไฟฟ้าสำหรับฟอกอากาศและสร้างโอโซนจะอาศัยหลักการวงจรสวิตซิ่งเพื่อสร้างไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันสูง ทำให้สามารถช่วยลดขนาดของวงจรจึงง่ายต่อการนำไปใช้ในอุปกรณ์ที่ต้องการการจำกัดของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครประสบกับปัญหาฝุ่นละอองในอากาศโดยฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศมีผลกระทบต่อทัศนวิสัย สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากร ฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นอนุภาคในอากาศที่สามารถผ่านเข้าไปในปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจทำให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นได้ เช่น เนื้อเยื่อปอด หากรับเข้าไปมากเกินขนาดหรือติดต่อกันเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมเป็นพังผืดหรือแผล สมรรถภาพปอดเสื่อม หลอดลมอักเสบ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง และยังอาจทำให้ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โดยแหล่งที่มาของฝุ่นละอองเหล่านี้มาจากสถานประกอบการ โรงงาน สถานที่ก่อสร้าง และควันจากไอเสียรถยนต์ จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นจึงต้องมีการลดปริมาณฝุ่นในอากาศเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ และปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคจากคนสู่คนได้โดยง่ายจากการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านทางอากาศ ดังนั้นการสลายเชื้อโรคและเชื้อไวรัสควบคู่ไปกับการลดปริมาณฝุ่นละอองทำให้สามารถได้อากาศที่มีความสะอาดมากยิ่งขึ้น
ผู้จัดทำ
นิธิศ อรัญวาส
NITHIT ARANWAT
#นักศึกษา
สมาชิก
อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ
Anuwat Jangwanitlert
#อาจารย์
อาจารย์ที่ปรึกษา
โหวตนวัตกรรมนี้
กำลังดาวน์โหลด
Powered By KMITL Innovation Project